องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม

Khampom Subdistrict Administrative Organization

ประวัติความเป็นมา


ออนไลน์ : 12

หัวข้อ :: ประวัติความเป็นมา

​ประวัติความเป็นมา ตำบลขามป้อม

                 ประวัติตำบลขามป้อม เมื่อประมาณ 500-700 ปี ถิ่นเดิมของกลุ่มชนที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตอำเภอวาปีปทุมได้อพยพมาจากบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยของทุ่งหมาหิว (ทุ่งกุลาร้องไห้) จากชุมชนบ้านตากแดด ศรีภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิ) มณฑลร้อยเอ็ด ว่ากันว่า ศูนย์รวมของชุมชนในสมัยนั้น สุวรรณภูมิเป็นชุมชนใหญ่ในภาคอีสานตะวันออก จากพงศาวดารภาคอีสาน ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรชัย บุญมาธรรม สถาบันราชภัฏมาหาสารคามได้ค้นคว้ามากกล่าวว่า “ถึงระหว่างจุลศักราช 1144 ปีกุน จัตวาศก ทราบข่าวว่า กวนเมือง(เจ้าเมือง)แสน เมืองสุวรรณภูมิ จ้างทิดโอด โกดบัง เข้าฟันท้าวสูน เจ้าเมืองสุวรรณภูมิตาย เมืองแสนกลัวความผิด หลบหนีไปพึ่งพระยาโคราช” ปี พ.ศ. 2340 ผู้คนในเมืองสุวรรณภูมิ ก็มีอันต้องแยกตัวไปตั้งเมืองหนองหาน ร้อยเอ็ด สารคาม ขอนแก่น ชนบท พุทไธสง จากพงศาวดารอีสานกล่าวว่าเนื่องจากเจ้าเมืองสุวรรณภูมิตาย ตำแหน่งชิงอำนาจอยากเป็นใหญ่ การแก่งแย่งชิงอำนาจในสมัยนั้น คือการกวาดต้อนเอาผู้คนมาเป็นพรรคพวกไว้ในอำนาจให้ได้มากที่สุด ประชาชนบางกลุ่มบางพวกกลัวจะถูกกวาดต้อนจึงชวนกันหลบหนีในเวลากลางคืน ข้ามทุ่งกุลาร้องไห้ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกต่อไปทางเหนือ เมื่อพ้นเขตทุ่งกุลร้องไห้ บางพวกตั้งหลักแหล่งอยู่ตามที่ต่าง ๆ บางกลุ่มเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกอย่างช้า ๆ แล้วกระจายออกไปตั้งหลักแหล่งและเลือกทำเลที่เหมาะสมในการสร้างบ้านสร้างเมือง ส่วนมากนะเลือกทำเลที่เป็นป่าที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บริเวณห้วย หนอง คลอง บึง ที่ประกอบด้วยที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก จากการอพยพเมื่อตั้งหลักแหล่งดังกล่าว กลุ่มคนที่อพยพมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อยผ่านอำเภอเกษตรวิสัย อำเภอจัตุรภักดิ์พิมานตอนเหนือและหยุดตั้งบ้านเรือนเป็น หย่อม ๆ กระจายกันออกเลือกทำเลในการตั้งหลักแหล่งตามความต้องการของแต่ละกลุ่ม สำหรับกลุ่มชนที่เป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านตำบลขามป้อมหลังจากพวกหนึ่งตั้งบ้านเรือนที่บ้านเมืองหงส์ อีกพวกหนึ่งอพยพผ่านมาเรื่อย ๆ จนถึงลำห้วยขี้นาก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นดินแดง (ดินหินลาด) มีลักษณะเป็นลานกว้าง เหมาะแก่การป้องกันสัตว์ป่าได้ดี หัวหน้ากลุ่มได้แบ่งผู้คนออกสำรวจรอบ ๆ บริเวณลาดดินแดงที่พักจนไปพบหองน้ำประกอบป่างิ้วใหญ่มีนกมากมายกินน้ำหวานของดอกงิ้ว เหมาะแก่การสร้างบ้านแปลงเมือง จึงได้ปักหลักสร้างบ้านเรือนอยู่ที่นั้นแล้วตั้งชื่อว่า บ้านโนนงิ้ว หลังจากปักเหลักตั้งบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นแล้ว ก็มีผู้อพยพมาเรื่อย ๆ จนเป็นชุมชนใหญ่ เจริญมาก ผู้เขียนเคยได้ยินจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาเป็น ทอด ๆ ว่า ถ้ามีงานเทศกาลตามประเพณีของบ้านโนนงิ้ว จะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ประชาชนหลั่งไหลมาเที่ยวงานสนุกสนานรื่นเริงมากกว่ากัน ถ้าใครไม่ได้ไปร่วมงานประเพณีบ้านโนนงิ้ว ถือว่าเกิดไม่หมดชาติ หลายร้อยปีต่อมาประชากรก็เพิ่มขึ้นที่อยู่อาศัยก็คับแคบแออัดขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้ประชากรอพยพแยกออกไปสร้างใหม่กระจายออกไปหลายหมู่บ้าน แต่ก็อยู่ในเขตปริมณฑลของบ้านโนนงิ้ว ความเป็นชุมชนใหญ่ ความกดดันของประชากรประกอบกับปรากฎการณ์ธรรมชาติเกิดสภาวะแปรปรวน แห้งแล้งอย่างรุนแรง ข้าวยากหมากแพง เกอดกุลียุค ผีห่า (อหิวาตกโรค)ลงกินผู้คนล้มตายไปหลายร้อยคนบางครอบครัวตายหมดไม่มีใครเอาศพไปทิ้ง บางคนหนีเอาตัวรอด เสี่ยงตายอพยพหนีไปโดยไม่มีจุดหมายปลายทาง ตามถนนหนทางเหม็นหึ่งไปด้วยศพจนอีแล้งอีกาลวงกิน ขณะนั้นมีผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านเชื่อถือว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมมาถึง เป็นผู้วิเศษวิชาขลังประกอบพิธีไล่ผีห่า หายาสมุนไพรขจัดปัดเป่าด้วยมนต์คาถาด้วยมนคาถาเสนียดจัญไรได้รวบความผู้คนที่เหลืออยู่ประมาณ 60 หลังคาเรือน ทิ้งบ้านทิ้งช่องหนีลงมาอยู่ป่าขามป้อม ในการเดินทางนั้น ผู้วิเศษทั้ง 3 ต้องเสกคาถาอาคมใส่แส้ให้ชาวบ้านคนละแส้ถือไล้ผีห่ามิให้ติดตามมา พอเดินมาถึงป่าขามป้อม ก็ทำพิธีไล่ผีห่า ผีสาง ที่เจ้าที่เจ้าทางอาศัยอยู่ป่าขามป้อม แล้วเอาด้ายสายสิญจน์ขึงรอบป่า เพื่อป้องกันผีห่าเข้ามาทำร้ายชาวบ้าน ผู้วิเศษทั้งสามท่านจึงได้จัดพิธีปลูกฝังลูกนิมิตที่กลางป่าขามป้อม ซึ่งเป็นหินเสกคาถาอาคม พร้อมนำก้อนหินที่ลงคาถาอาคมไปฝังไว้ตามทิศทั้ง 8 เพื่อให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข แล้วช่วยกันถางป่า ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่เป็นสุขตลอดมา และบริเวณกึ่งกลางป่าขามป้อม ผู้วิเศษทั้ง 3 ท่านได้นำไม้รังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ยาว 5 ศอก มาถากเป็นแปดเหลี่ยมสลักคาถาอาคม เลยกึ่งกลางท่อนไม้ขึ้นมา เจาะลึกลงไปเป็นโพรงสี่เหลี่ยม แล้วนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เข้าประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน ขุดหลุมฝังลึก 2 ศอก 1 คืบ และนำหลักไม้รังแปดเหลี่ยมอีก 8 ต้น สลักคาถาอาคมฝังรอบหลักใหญ่แปดทิศโดยให้พ้นดินหลักละ 1 ศอก 1 คืบ ผู้วิเศษทั้ง 3 ท่านเรียกว่า บือบ้าน หรือ สะดือบ้าน และตั้งช่อบ้านว่า บ้านขามป้อม ตั้งแต่บัดนั้นและได้บอกลูกหลานไว้ว่า เมื่อถึงเดือน 6 ของทุกปี ให้ลูกหลานพากันทำบุญเบิกบ้าน ก่อนจะทำการลงนา และนำแห่ (หินแห่) นำทราย (ดินทราย) มาทำพิธีปลุกเสกเพื่อนำไปไล่ผีและเสนียดจัญไรรอบบ้าน พร้อมแต่งกระทงหน้าวัวบรรจุอาหารเพื่อเลี้ยงผี ส่งผีอย่างได้ขาด ครั้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2425 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้ตั้งอำเภอวาปีปทุม ซึ่งย้ายมาจากบ้านนาเลา ไปตั้งที่บ้านหนองแสง ขึ้นตรงต่อเมืองมหาสารคาม แล้วโปรดเกล้าแต่งตั้ง ท้าวสุริยวงศ์ (มี) เป็นพ่อเมืองหรือนายอำเภอคนแรก ส่วนบ้านขามป้อมในขณะนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ใหญ่ขึ้น ขยายบ้านให้ใหญ่และกว้างออกไปอีกไม่ได้มากเกิดการแออัดคับแคบ ผู้คนส่วนหนึ่งจึงอพยพไปตั้งบ้านใหม่ โดยมุ่งหน้าไปทางใต้ของเขตจังหวัดบุรีรัมย์ แถว ๆ บ้านโคกเพ็ก บ้านตูม บ้านวังใหญ่ บ้านหนองเม่น ความเป็นชุมชนใหญ่เก่าแก่อยู่ห่างจากตัวอำเภอพอประมาณ พ่อเฒ่าเส จึงเดินทางเขาเฝ้าเท้าสุริยวงศ์ เพื่อขออนุญาตยกฐานะบ้านขามป้อมเป็นตำบล แล้วเกลี้ยกล่อมผู้นำหมู่บ้าน หนองไฮ นาเลา หนองแวง หนองบก บ้านโนน บ้านหนองทุ้ม (ผู้เขียนสันนิฐานจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่น่าเชื่อถือได้ว่า หมู่บ้านที่กล่าวถึงนี้ น่าจะเป็นกลุ่มชนที่หนีออกจากบ้านโนนงิ้ว เพราแต่ก่อนเป็นญาติพี่น้องกัน สนิทสนมกัน ไปมาหาสู่กันเสมอ เข้ามาอยู่รวมกันเป็นตำบลขามป้อม ประมาณ พ.ศ. 2449

ซึ่งมีรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง กำนัน ดังนี้
1. พ่อเฒ่าเส หรือ หลวงเส
2. ขุนขามป้อม หรือกำนันบุญมี
3. กำนันนาค สุวรรณธาดา
4. กำนันบุญชา ปาปะกาย
5. กำนันผ้อย หงส์พิมพ์
6. กำนันสุข กัณหา
7. กำนันหลั่น นามปักใต้
8. กำนันประยูร ปักโคทะกัง
9. กำนันทรงฤทธิ์ เพชรนาค คนปัจจุบัน
 ปัจจุบัน  องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม  ตั้งอยู่เลขที่  70  หมู่  3  ตำบลขามป้อม  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม
วันที่ : 25 พฤษภาคม 2563   View : 1744
Facebook Chat